การละหมาด
الصلاة
การละหมาดหลักการที่สองในอิสลาม
1. คำนิยาม
เชิงหลักภาษา คือ การขอพร (ดุอาอ์)
ดังโองการที่ว่า
﴿خُذْ مِنْ أَمْوَالِهِمْ صَدَقَةً تُطَهِّرُهُمْ وَتُزَكِّيهِمْ بِهَا وَصَلِّ عَلَيْهِمْ﴾ [التوبة : 103]
“เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินของพวกเขาเป็นทานบริจาค เพื่อชำระพวกเขา ( จากความผิด) และขัดเกลาพวกเขา และจงขอพรแก่พวกเขา (ให้ได้รับการอภัยโทษ)”(อัตเตาบะฮฺ103)
เชิงวิชาการ
คือถ้อยคำและการปฏิบัติที่ถูกกำหนดเฉพาะตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนด ซึ่งเริ่มด้วยคำว่า “อัลลอฮุอักบัร”และเสร็จสิ้นด้วยคำว่า “อัสสะลามุอะลัยกุม”
2. การบัญญัติละหมาด
การละหมาดถูกบัญญัติขึ้นในค่ำคืนอิสรออ์มิอฺรอจญ์ (การเดินทางสู่ฟากฟ้าของท่านเราะสูล)ก่อนที่จะอพยพไปยังเมืองมะดีนะฮฺ ซึ่งเป็นหนึ่งจากองค์ประกอบหลักของอิสลาม หลังจากคำปฏิญาณตน เพราะอยู่ภายใต้เนื้อหาของคำปฏิญาณ และเป็นสิ่งแรกที่ถูกกำหนดหลังจากที่ปฏิญาณตน
«رَأْسُ الأَمْرِ الإِسْلَامُ، وَعَمُودُهُ الصَّلَاةُ، وَذِرْوَةُ سَنَامِهِ الجِهَادُ»
“รากฐานของศาสนา คือการปฏิญาณตน เสาคือละหมาด และสัญลักษณ์ (โดมหรือธง ) คือการเสียสละต่อสู้ (ญิฮาด) ในหนทางแห่งอัลลอฮฺ”(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์ เลขที่ 2616, อิบนุมาญะฮฺเลขที่ 3973 และอะหมัด231/5)
3.เหตุผลการบัญญัติละหมาด
การละหมาดเป็นการขอบคุณในความโปรดปรานต่างๆ ที่อัลลอฮฺทรงให้แก่ปวงบ่าว และเป็นการเคารพภักดีที่มีความหมายอันเด่นชัดที่สุด เนื่องจากประจักษ์ถึงการมุ่งหน้าไปยังอัลลอฮฺ นอบน้อมและคารวะต่อพระองค์ และใกล้ชิดพระองค์ด้วยการอ่านบทรำลึกและบทขอพร
อีกทั้งยังเป็นการสื่อสาร ระหว่างบ่าวกับพระผู้อภิบาลของเขา และเป็นการก้าวผ่านจากโลกแห่งวัตถุสู่ความสงบและความบริสุทธิ์ของจิตใจ เพราะทุกครั้งที่บ่าวหมกมุ่นกับความวุ่นวายของชีวิตและสิ่งยั่วยวนในโลกนี้ การละหมาดจะยั้งเขาไว้ ก่อนที่เขาจะจมลงไป และนำเขากลับสู่แก่นแท้ของชีวิต ซึ่งเขาได้เผลอไป และขณะเดียวกันก็รู้ว่า แท้จริง ณ โลกหน้านั้น มีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ และแท้จริงเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะใช้ชีวิตโดยไม่มีการตระเตรียมเสบียง
4. ข้อชี้ขาดเกี่ยวกับการละหมาดและจำนวน
การละหมาดมี 2 ประเภท ภาคบังคับ และภาคสมัครใจ
ภาคบังคับมี 2 ประเภท คือ บังคับรายบุคคล และบังคับโดยรวม
ภาคบังคับรายบุคคล
คือ บังคับทุกคนที่เป็นมุสลิม ทั้งชายและหญิง ซึ่งบรรลุศาสนภาวะ นั่นคือละหมาดห้าเวลา
﴿إِنَّ الصَّلَاةَ كَانَتْ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ كِتَابًا مَّوْقُوتًا﴾[النساء : 103]
“แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดเวลา ไว้แก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย”(อันนิสาอ์,103)
﴿وَمَا أُمِرُوا إِلَّا لِيَعْبُدُوا اللَّهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ حُنَفَاءَ وَيُقِيمُوا الصَّلَاةَ وَيُؤْتُوا الزَّكَاةَ ﴾ [البينة : 5]
“และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์เป็นผู้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงและดำรงการละหมาด และจ่ายซะกาต”(อัลบัยยินะฮฺ,5)
«بُنِيَ الإِسْلامُ عَلَى خَمْسٍ: شَهَادَة أَنْ لَا إِله إِلّا اللَّه وَأَنْ مُحَمّدًا رَسُوْلُ اللّهِ، وإِقَامِ الصَّلاة، وَإِيْتَاءِ الزَّكَاة ... إلخ»
“อิสลามถูกวางอยู่บนโครงสร้าง 5 ประการหนึ่ง การปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าที่ถูกเคารพภักดีโดยแท้จริงนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น และมุหัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และ จ่ายซะกาต ... (จนจบหะดีษ)”(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ 8, มุสลิม 16, อัตติรมิซีย์ 2609)
นาฟิอ์ บิน อัซร็อก กล่าวแก่ อิบนิอับบาส ว่า “ละหมาดห้าเวลาถูกระบุไว้ในอัลกุรอานหรือไม่? อิบนุอับบาสกล่าวว่า ใช่ถูกกล่าวไว้ แล้วก็อ่าน
﴿فَسُبۡحَٰنَٱللَّهِحِينَتُمۡسُونَوَحِينَتُصۡبِحُونَ١٧وَلَهُٱلۡحَمۡدُفِيٱلسَّمَٰوَٰتِوَٱلۡأَرۡضِوَعَشِيّٗاوَحِينَتُظۡهِرُونَ١٨﴾ [الروم : 17-18]
“จงสดุดีต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิดโอ้บรรดาผู้ศรัทธาเมื่อเข้าสู่ยามเช้าและยามเย็นและสำหรับพระองค์นั้นคือการสรรเสริญในบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินและจงสดุดีเมื่อยามพลบค่ำและเมื่อยามบ่าย”(อัรรูม17-18)
และหะดีษอาหรับชนบทคนหนึ่งซึ่งมาหาท่านเราะสูล แล้วกล่าวว่า “ละหมาดใดที่อัลลอฮฺทรงบัญญัติแก่ฉัน ? ท่านเราะสูลตอบว่า “ละหมาดห้าเวลาเขาถามต่อว่า “ยังมีละหมาดอื่นอีกไหม?” ท่านเราะสูลกล่าวว่า “ไม่ นอกจากท่านจะสมัครใจเท่านั้น”(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ 1792, และมุสลิม 17)
5. การละหมาดของผู้เยาว์
เมื่อเด็กอายุครบเจ็ดปีต้องสั่งใช้ให้ละหมาด และจะถูกลงโทษ (เนื่องจากการละเลย)โดยการตี (ตีไม่แรง เพื่อเป็นแค่การสำทับตักเตือน) เมื่ออายุครบสิบปี เนื่องจากหะดีษ
«مُرُوا أَبْنَاءَكُم بِالصَّلاةِ لِسَبْعِ سِنِيْنَ وَاضْرِبُوْهُمْ عَلَيْهَا لِعَشْرِ سِنِيْنَ، وَفَرِّقُوا بَيْنَهُم فِي المَضَاجِعِ»
“จงสั่งใช้ลูกๆของพวกเจ้าให้ละหมาดเมื่ออายุครบเจ็ดปี และจงลงโทษโดยการเฆี่ยนตีเมื่ออายุครบสิบปี และจงแยกที่นอนระหว่างพวกเขา”(บันทึกโดย อบูดาวูด 495, และอัตติรมิซีย์ และอะหมัด 2/178)
6. ข้อชี้ขาดเกี่ยวกับผู้ที่ปฏิเสธว่าการละหมาดเป็นบัญญัติที่บังคับ
บุคคลใดปฏิเสธว่าการละหมาดไม่ใช่ข้อบังคับจำเป็น เขาย่อมเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา แม้ว่าเขาได้ละหมาดก็ตาม หากว่าเขามิใช่ผู้ที่ขาดความรู้ (ญาฮิล)
และจะเป็นกาฟิรเช่นเดียวกัน ผู้ที่ละทิ้งละหมาดเพราะไม่เอาใจใส่ หรือเกียจคร้าน แม้ว่าเขายอมรับว่าการละหมาดเป็นบัญญัติบังคับก็ตาม
﴿فَإِنْ تَابُوا وَأَقَامُوا الصَّلَاةَ وَآتَوُا الزَّكَاةَ فَخَلُّوا سَبِيلَهُمْ إِنَّ اللَّهَ غَفُورٌ رَحِيمٌ﴾ [التوبة : 5]
“ต่อมาหากพวกเขาสำนึกผิด (โดยกลับตัวจากการปฏิเสธ) และดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและบริจาคทาน พวกเจ้าจงปล่อยพวกเขาไป แท้จริงอัลลอฮฺทรงอภัย ทรงเมตตายิ่ง”(อัตเตาบะฮฺ5)
และหะดีษ จากญาบิร
«بَيْنَ الرَّجُل وَبَيْنَ الشِّركِ وَالكُفْرِ تَركُ الصَّلاة»
“ระหว่างผู้ที่เป็นมุสลิมและผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น คือการละทิ้งละหมาด” (บันทึกโดย มุสลิม82, อัตติรมิซีย์ 2620, อบู ดาวูด4678, อิบนุมาญะฮฺ1078, อะหมัด3/370, และอัดดาริมีย์ 1233)
7. รุก่น(องค์ประกอบหลัก) ของการละหมาด
มี 14 ประการ จะละเลยมิได้ ไม่ว่าเจตนา สะเพร่า หรือขาดความรู้ก็ตาม
1. ยืนตรง สำหรับผู้ที่มีความสามารถ (เฉพาะละหมาดฟัรฎู)
2. ตักบีรฺอตุลอิหฺรอม (เข้าพิธีละหมาดด้วยการกล่าวว่า อัลลอฮุอักบัรฺ)และจะใช้ถ้อยคำอื่นมิได้
3. อ่านสูเราะฮฺ อัลฟาติหะฮฺ
4. รุกูอ์ (ก้มศีรษะ)
5. เงยศีรษะจากการรุกูฮฺ และยืนตรง
6. สุญูด (ก้มกราบ)
7. ยกศีรษะขึ้นจากการสุญูด
8. การนั่งระหว่างสองสุญูด
9. ฏุมะนีนะฮฺ (ทำอย่างสงบนิ่งมีจังหวะไม่รีบร้อนผลีผลาม)
10. การอ่านตะชะฮุดครั้งสุดท้าย
11. การนั่งเพื่ออ่านตะชะฮุดครั้งสุดท้าย
12. เศาะลาวาต (การกล่าวคำขอพรแก่ท่านเราะสูลและวงศาคณาญาติ)
13. การกล่าวคำสลามสองครั้ง (คือ อัสสะลามุอะลัยกุม วะเราะมะตุลลอฮฺ) และทางที่ดีไม่ควรเพิ่มคำว่า “วะบะรอกาตุฮฺ”
เนื่องจากหะดีษ จากอิบนิมัสอูด
«أنَّالنَبِي صلى الله عليه وسلم كان يُسَلِّم عَنْ يَمِيْنِه: السَّلامُ عَلَيْكُم وَرَحْمَةُ اللّهِ، وَعَنْ يَسَارِهِ السَّلامُ عَلَيْكُم وَرَحْمَةُ اللّه »
“แท้จริงท่านเราะสูลกล่าวสลามข้างขวาและข้างซ้ายด้วยคำว่า อัสสะลามุอะลัยกุมวะเราะมะตุลลอฮุ”(บันทึกโดย มุสลิม อัตติรมิซีย์ 295,อบู ดาวูด996, อิบนุมาญะฮฺ914, และอะหมัด 1/409)
14. การเรียบเรียงตามลำดับระหว่างรุก่นต่างๆ
8. สิ่งที่เป็นวาญิบของการละหมาด มี 8 ประการ
วาญิบคือ สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติ หากละทิ้งโดยเจตนา การละหมาดจะเป็นโมฆะ และเป็นที่อนุโลม หากเกิดจากความสะเพร่าหรือไม่รู้
1. การกล่าวคำตักบีรฺ อื่นจากตักบีรฺเข้าพิธีละหมาด (ตักบีรฺในการเปลี่ยนอิริยาบท)
2. การกล่าวคำว่า สะมิอัลลอฮุลิมันหะมิดะฮฺ สำหรับผู้ที่เป็นอิมาม และผู้ที่ละหมาดคนเดียว
3. การกล่าวคำว่า ร็อบบะนา วะละกัลหัมดุ
4. กล่าวคำตัสบีห์หนึ่งครั้งในขณะรุกูอ์ (สุบหานะร็อบบิยัลอะซีม)
5. กล่าวตัสบีห์หนึ่งครั้งในขณะสุญูด (สุบหานะร็อบบิยัลอะลา)
6. กล่าวคำว่า “ร็อบบิฆฟิรลี” ระหว่างสองสุญูด
7. การอ่านตะชะฮุดครั้งแรก
8. การนั่งเพื่ออ่านตะชะฮุดครั้งแรก
9. เงื่อนไขของการละหมาด
เงื่อนไขตามหลักภาษา คือ เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์
และในทางบทบัญญัติ คือ สิ่งที่มีผลผูกพันให้สิ่งอื่นมีความถูกต้องหรือสมบูรณ์
1. การตั้งเจตนาละหมาด
2. เป็นมุสลิม
3. มีสติสัมปชัญญะ
4. รู้เดียงสา (บรรลุวัยที่สามารถแยกแยะเรื่องต่างๆ ได้)
5. เข้าเวลาละหมาด
6. มีน้ำละหมาด (ปราศจากหะดัสเล็กและหะดัสใหญ่)
7. ผินหน้าไปทางกิบละฮฺ (กะอฺบะฮฺ)
8. ปกปิดเอาเราะฮฺ (ส่วนของร่างกายที่ต้องปกปิดตามบทบัญญัติ)
9. สะอาดจากสิ่งปฏิกูล (นะญิส)
10. เวลาละหมาด
คือกรอบเวลา เพราะเวลานั้นเป็นสาเหตุที่จำเป็นต้องละหมาด และเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ละหมาดถูกต้องใช้ได้
มีหะดีษหลายๆบท ซึ่งท่านเราะสูลได้กำหนดเวลาละหมาด เช่น จาก อิบนิอับบาส กล่าวว่า
“ท่านเราะสูลกล่าวว่า “ญิบรีลได้นำละหมาดฉัน ณ กะอฺบะฮฺ สองครั้ง(ในสองวัน) และได้กล่าว (ระบุ) ถึงเวลาละหมาดต่างๆ หลังจากนั้นท่านกล่าวว่า “แล้วญิบรีลได้หันมายังฉัน พลางกล่าวว่า โอ้มุหัมมัด เวลาละหมาดนี้เหมือนเวลาละหมาดของบรรดาศาสนทูตก่อนหน้าเจ้า เวลาละหมาดนั้น อยู่ระหว่างละหมาดทั้งสองนี้”(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์148,อบู ดาวูด393, และอะหมัด 1/333)
เวลาละหมาดทั้งห้านั้นถูกแบ่งระหว่างกลางวันและกลางคืน เมื่อมนุษย์ได้นอนพักผ่อน เขาย่อมมีความกระฉับกระเฉง และเมื่อถึงเวลาเช้า คือเวลาทำงาน ก็มีละหมาดศุบห์ (ยามรุ่งอรุณ) เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขามีความแตกต่างกับสรรพสิ่งอื่นๆ และเพื่อต้อนรับวันใหม่โดยที่เขาได้เตรียมเสบียงแห่งความศรัทธา
และเมื่อเที่ยงวัน เขาจะหยุดพักจากการทำงาน เพื่อเขาได้ใช้เวลาพิจารณา ใคร่ครวญมุ่งหน้าสู่ ผู้อภิบาลของเขา โดยการละหมาดซุฮรฺ และได้ปรับปรุงสิ่งที่เขาได้ทำในช่วงเช้า แล้วเมื่อเข้าสู่ยามบ่ายของวัน เขาจะละหมาดอัศริจากนั้น เมื่อเวลาพลบค่ำและค่ำคืน ก็ละหมาดมัฆริบและอิชาอ์ ซึ่งละหมาดทั้งสองนี้ เป็นแสงสว่างและทางนำจะนำพาเขาในยามค่ำคืน ซึ่งเป็นที่เงียบสงัดไปสู่แนวทางที่ถูกต้อง
เช่นกัน การละหมาดในเวลาต่างๆเป็นโอกาสในการใคร่ครวญในอำนาจและความประณีตของอัลลอฮฺ ที่มีต่อสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ในยามกลางวันและกลางคืน
เวลาละหมาดซุฮริ
เริ่มเข้าเวลาเมื่อตะวันคล้อย(จากตรงกลางของฟ้า ซึ่งรับรู้ได้โดยมันจะมีความยาว จากที่มันสั้นก่อนนั้น (เที่ยงวัน) และหมดเวลาเมื่อเงาของสิ่งต่างๆมีความยาวเท่ากับตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เงาตอนที่ตะวันกำลังจะคล้อย (หลักการคือ จะรับรู้ถึงเงาของสิ่งที่ตะวันได้คล้อยผ่าน จากนั้นก็สังเกตปริมาณที่เพิ่มขึ้น เมื่อมีปริมาณเท่าตัว เวลาซุฮริก็หมด )
เวลาละหมาดอัศริ
เริ่มเข้าเวลา เมื่อ เงาของสิ่งต่างๆมีความยาวเท่ากับตัวเอง (ไม่นับตอนที่ตะวันกำลังคล้อย) และจะหมดเมื่อ เงาของสิ่งหนึ่งมีความยาวสองเท่าตัว (นี่คือเวลาปกติ) และเมื่อตะวันลับขอบฟ้า (เวลาคับขัน)
เวลาละหมาดมัฆริบ
เริ่มเข้าเวลาเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนกระทั่งดวงดาวเต็มท้องฟ้า (ดาวประสานกัน เห็นได้เพราะมืด) และเวลาสุดท้าย แต่น่ารังเกียจ เมื่อเมฆสีแดงหายหมดไป
เวลาละหมาดอิชาอ์ เริ่มเมื่อเมฆสีแดงหมดไป จนกระทั่งถึงเที่ยงคืน
เวลาละหมาดศุบห์ หรือฟัจญ์รฺเริ่มเข้าเวลาเมื่อแสงอรุณขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้น
11. การกำหนดเวลาละหมาดในประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร (ขั้วโลกเหนือ)
ประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนสูตรมี สูงแบ่งออกเป็น สามประเภท
หนึ่ง ประเทศที่อยู่ระหว่าง45 และ 48 องศา เหนือ และใต้ ประเทศเหล่านี้ เครื่องหมายบอกเวลาละหมาดจะปรากฏชัด ไม่ว่ากลางคืนและ กลางวันจะสั้นหรือยาว
สองประเทศที่อยู่ระหว่างเส้น 48 และ 66 องศาเหนือและใต้ ประเทศเหล่านี้จะไม่มีสัญลักษณ์บอกเวลาละหมาดในบางช่วงของปี เช่น เมฆสีแดงจะไม่หายไปจนกว่าจะเข้าเวลาละหมาดศุบห์
สาม ประเทศที่อยู่เหนือเส้น 66 องศาเหนือและใต้ และสัญญาณเวลาละหมาดไม่ปรากฏเป็นระยะเวลานานของปี ไม่ว่าจะเป็นกลางคืนหรือกลางวัน